กาฬสินธุ์ แล้งว่างงานเติมความรู้ชาวบ้านก่อนเพาะปลูกฤดูกาลผลิตใหม่

จังหวัดกาฬสินธุ์ เดินหน้าจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ประจำปี 2565 เต็มพื้นที่ 18 อำเภอ เพื่อเติมความรู้เกษตรกรในช่วงหลังเก็บเกี่ยวหน้าแล้งและว่างงาน ให้มีความรู้ทุกด้าน เพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และลดทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ที่ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตำบลเขาพระนอน (ไร่ภูทองใบ) ของนางจิตตานันท์ ภูทองใบ บ้านโคกแง้ หมู่ที่ 5 ต.เขาพระนอน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายดนุพงษ์ ภูตรี นายกเทศมนตรีตำบลเขาพระนอน เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ระดับอำเภอ ประจำปี 2565 โดยมีนางสาวอรนุช เกษสัญชัย หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตร จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตร อ.ยางตลาด ส่วนราชการในพื้นที่ ผู้บริหารท้องถิ่น เกษตรกรตำบลเขาพระนอน เข้าร่วมกิจกรรม ภายใต้มาตรการป้องกันโคตรวิด-19
ทั้งนี้ งานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ดังกล่าว หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนเกษตรกร ในสถานีเรียนรู้หลักและสถานีเรียนรู้ย่อย ภายใต้ 6 กิจกรรม ได้แก่ สถานีที่ 1 บัญชีครัวเรือน สถานีที่ 2 การรวมกลุ่ม สถานีที่ 3 ระบบการให้น้ำพืชการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า สถานีที่ 4 การขยายพันธุ์พืช สถานีที่ 5 เศรษฐกิจพอเพียง การใช้และการผลิตสารชีวภัณฑ์ และสถานีที่ 6 ปรับปรุงบำรุงดิน อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นวัตกรรมลดการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่การเกษตร


นางสาวอรนุช เกษสัญชัย หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตร จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) มีความสำคัญอย่างยิ่งกับพี่น้องเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะได้มีการบอกกล่าวให้พี่น้องเกษตรกร ทั้ง 18 อำเภอ ได้ทราบถึงวิธีการปฏิบัติก่อนจะมีการเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ ทำให้เกษตรกรนำองค์ความรู้ที่เหมาะสมกับพื้นที่ ไปประยุกต์ใช้ในไร่นาและสวนของตนเองได้ เช่น การบริหารจัดการเรื่องน้ำ การรวมกลุ่มแปลงใหญ่ การทำบัญชีในครัวเรือน จะทำให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้เป็นอย่างดี และสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และศูนย์เครือข่ายที่ประสบความสำเร็จ ไปใช้ในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเข้มแข็ง และพึ่งพาตนเองได้


ด้านนายกฤษ กองอุดม ตัวแทนไร่ภูทองใบ กล่าวว่า ไร่ภูทองใบ เมื่อ 20 ปีก่อนเป็นป่าที่เสื่อมโทรมใช้ประโยชน์ไม่ได้ ตนและครอบครัวจึงได้น้อมนำหลักการพัฒนาตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยการปลูกพืช 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ดำเนินการตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงทำให้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งในปัจจุบัน สามารถเป็นสถานที่เรียนรู้ของเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงได้ เช่น เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ปลูกพืชเศรษฐกิจหลักอย่างมะม่วง ที่สามารถสร้างอาชีพ และสร้างงานา และเป็นแหล่งรองรับแรงงานหลังได้รับผลระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ดังกล่าว ยังเป็นการใช้วิกฤติเป็นโอกาส เพื่อเติมความรู้เกษตรกรในช่วงหลังเก็บเกี่ยวหน้าแล้ง เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ซึ่งอยู่ในช่วงว่างงาน ให้มีความรู้ในการเกษตรทุกด้าน เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน บริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และลดทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง