จัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาชายแดนใต้ต้นแบบที่ม.อ.ปัตตานี ขยายเปิดหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เตรียมการสำหรับการจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาชายแดนใต้ โดยกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ สนับสนุนด้านอุปกรณ์วิทยาศาสตร์การกีฬา ทั้งนี้เตรียมพร้อมรองรับเปิดหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา โดยออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนแบบโมดูล และสะสมหน่วยการเรียนในรูปแบบธนาคารหน่วยกิตเพื่อนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตร์การกีฬาแบบ Degree ในอนาคต

ดร.บดินทร์ แวลาเตะ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้จัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาชายแดนใต้ (Sports Science Center for Thailand’s Deep South : SSC-TDS) ภายใต้โครงการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนากีฬาจังหวัดชายแดนใต้ โดยใช้พื้นที่บริเวณลานสีบลู เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาวิทยาศาสตร์การกีฬาสำหรับชายแดนภาคใต้ การบริการวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา นอกจากนี้ยังเป็นการสนับสนุนการเรียนการสอนด้านกีฬาและสุขภาในทุกระดับการศึกษาตลอดจน Non-degree programs นำไปสู่การสร้างเครือข่ายด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย สู่การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเปิดให้บริการกิจกรรมด้านกีฬา และการส่งเสริมการเรียนการสอน โดยมีแผนเปิดหลักสูตรแบบ Degree สาขาวิชาที่เปิดสอนในวิทยาเขตปัตตานี และหลักสูตรวิทยาศาสตร์การกีฬาในอนาคต และหลักสูตรแบบ Non-degree เช่น หลักสูตรผู้ฝึกสอนกีฬา (Coach) หลักสูตรผู้ตัดสินกีฬา หลักสูตรกายภาพบำบัดทางการกีฬา ในรูปแบบการอบรมต่าง ๆ โดยอาศัยเครือข่ายด้านการกีฬา คาดหวังที่จะยกระดับศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาชายแดนใต้ ให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านกีฬา ชั้นนำระดับประเทศ โดยอาจใช้โมเดลการทำวิจัยขับเคลื่อนการสร้างนวัตกรรมก่อนการขยายไปสู่การพัฒนาหลักสูตร


ดร.บดินทร์ แวลาเตะ กล่าวเพิ่มเติมถึงความพร้อมในการเปิดหลักสูตรวิทยาศาสตร์การกีฬา ว่า มหาวิทยาลัย มีความพร้อมในการขับเคลื่อนการเปิดหลักสูตรวิทยาศาสตร์การกีฬาภายใต้โครงการศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาชายแดนใต้ โดยเป็นหลักสูตรกลางของวิทยาเขตที่บูรณาการศาสตร์ร่วมกับคณะต่าง ๆ ภายในวิทยาเขตปัตตานีและต่างวิทยาเขต โดยมีการดำเนินงานแบบ PSU SYSTEM ตลอดจนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีแนวคิดออกแบบหลักสูตรและจัดการเรียนการสอนแบบโมดูล และสะสมหน่วยการเรียนรู้ในรูปแบบธนาคารหน่วยกิต เพื่อนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตร์การกีฬาแบบ Degreeในอนาคต ซึ่งมหาวิทยาลัยมีสาขาวิชาที่รองรับการเปิดหลักสูตร อาทิ พลศึกษา จิตวิทยา โภชนศาสตร์และการกำหนดอาหาร กายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยา และชีวเคมี ในการพัฒนาหลักสูตร Non-degree ด้านกายภาพบำบัดเวชศาสตร์การกีฬา วิทยาศาสตร์การกีฬา วิทยาศาสตร์การกีฬาที่เกี่ยวกับการเสริมสร้างทักษะกระบวนการคิดวิเคราะห์ เป็นต้น


แนวคิดการจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาชายแดนใต้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณด้านการจัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือที่เกี่ยวข้องจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ โดย ดร.สุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เห็นชอบให้มีการจัดตั้งศูนย์ฯ ที่ ม.อ.ปัตตานี โดยมีการทำงาน ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านกีฬาในพื้นที่ร่วมกัน เช่น การกีฬาแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาจังหวัดปัตตานี สมาคมกีฬาจังหวัดยะลา สมาคมกีฬาจังหวัดนราธิวาส และสำนักการกีฬาและท่องเที่ยวจังหวัดปัตตานี จับมือร่วมกันทำงานเป็นเครือข่าย เพื่อพัฒนาการกีฬาของพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ในมิติของวิทยาศาสตร์การกีฬาที่เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาสมรรถภาพนักกีฬาอย่างเป็นระบบ ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาชายแดนใต้นี้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบนิเวศด้านการกีฬาภายในวิทยาเขตปัตตานี ซึ่งขณะนี้กำลังขอจัดตั้งงบประมาณในการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมและพัฒนากีฬาชายแดนใต้ ภายใต้คณะทำงานศูนย์ส่งเสริมและพัฒนากีฬาชายแดนใต้ คณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์