“อลงกรณ์”ตอบโจทย์”ไพศาล พืชมงคล”ประเด็น”ตีกินเปิดด่านจีน” ชี้”ไพศาล”สับสนเรื่องด่านจึงเข้าใจผิดในสาระสำคัญ พร้อมเชิญมาอัพเดทข้อมูลใหม่ที่กระทรวงเกษตรฯ.

“อลงกรณ์”ตอบโจทย์”ไพศาล พืชมงคล”ประเด็น”ตีกินเปิดด่านจีน” ชี้”ไพศาล”สับสนเรื่องด่านจึงเข้าใจผิดในสาระสำคัญ พร้อมเชิญมาอัพเดทข้อมูลใหม่ที่กระทรวงเกษตรฯ.

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์เขียนข้อความในเฟสบุ้คส่วนตัวตอบประเด็นที่นายไพศาล พืชมงคล อดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี(พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ)เขียนเรื่อง “ อย่าตีกิน ว่าเจรจาจีนให้เปิดด่านผิงสิงก่วนรับสินค้าไทยสำเร็จ เขาเปิดมานานแล้ว “โดยนายอลงกรณ์เขียนไว้ดังนี้…….
“…..อ่านข้อความของพี่ไพศาล พืชมงคล อดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี(พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ)เขียนเรื่อง “ อย่าตีกิน ว่าเจรจาจีนให้เปิดด่านผิงสิงก่วนรับสินค้าไทยสำเร็จ เขาเปิดมานานแล้ว “ด้วยความแปลกใจระคนตกใจ

“อย่าตีกิน ว่าเจรจาจีนให้เปิดด่านผิงสิงก่วนรับสินค้าไทยสำเร็จ เขาเปิดมานานแล้ว
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=4621859691246000&id=206264556138891”

ในฐานะคนกันเองจึงต้องรีบแก้ไขข่าวเพราะพี่ไพศาลเขียนบทความด้วยความเข้าใจผิดในสาระสำคัญมากๆหลายประการ เพื่อจะได้ไปแก้ไขบทความเสียใหม่ ดังนี้ครับ
1.ด่านรถไฟผิงเสียงไม่ใช่ด่านผิงเสียง เป็นคนละด่านกัน
2.ด่านผิงเสียงเป็นการเรียกตามชื่อเมือง (เมืองผิงเสียง) ชื่อด่านที่ถูกต้องเรียกว่า “ด่านโหยวอี้กวน”และเปิดด่านโหยวอี้กวนได้ตามพิธีสารไทยจีนปี2552
3.ด่านรถไฟผิงเสียงเพิ่งเปิดบริการขนส่งผลไม้ไทยวันแรกเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2563 ไม่ใช่เปิดมานานตามที่พี่ไพศาลเข้าใจ (น่าสับสนระหว่างคำว่าด่านรถไฟผิงเสียง ด่านผิงเสียง ด่านโหยวอี้กวน)
4.การขนส่งทางบกผ่านลาวและเวียดนามไปจีนมีความสำคัญมาก ทั้งทางรถและทางรถไฟซึ่งเราได้ดำเนินการล่วงหน้าจนทำพิธีสารเพิ่มด่านได้มากที่สุดในรอบทศวรรษ(โดยดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรฯ.)รวมทั้งด่านรถไฟผิงเสียง(เปิดดำเนินการแล้วปี2563) ล่าสุดคือด่านรถไฟโมฮ่าน(ไม่ใช่ด่านโมฮ่านนะครับ)และด่านรถไฟเหอโขว่รองรับเส้นทางรถไฟลาว-จีน
5.หลังโควิดระบาดระลอกใหม่ รัฐบาลจีนใช้มาตรการZero COVIDตรวจเข้มทุกด่านทุกเมืองทั่วจีน มาตรการที่กระทบต่อการขนส่งทุกระบบที่รุนแรงมากคือปิดด่านทันทีแม้พบโควิดปนเปื้อนเพียงรายเดียว เราร่วมกับทุกฝ่ายทุกประเทศที่เกี่ยวข้องและดำเนินการทั้งเป็นทางการไม่เป็นทางการเพื่อคลี่คลายปัญหานี้และจีนก็เปิดด่านรถไฟผิงเสียงอีกครั้งหนึ่งตามข่าวที่ออกไปเมื่อวันที่1ม.ค.ครับ
เป็นเรื่องการทำงาน ไม่ใช่เรื่องการตีกินหรือ อัปยศแห่งชาติตามสำนวนของพี่ไพศาล
ขณะนี้ประเทศไทยพร้อมแล้วในการส่งสินค้าไปท่าบกท่านาแล้งโดยความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนไทย-ลาว-จีนทันทีที่จีนพร้อมเปิดบริการSPSและโควิดที่ด่านรถไฟโมฮ่านคาดว่าจะเปิดบริการภายในครึ่งแรกปีนี้ คือรอจีนทำให้เสร็จซึ่งเรากับลาวร่วมด้วยช่วยกันผลักดันเรื่องนี้
ไม่ต้องรออะไรอีกแล้ว ที่เสร็จก็เร่งใช้งาน ที่สร้างก็สร้างไป แต่การขนส่งค้าขายรอไม่ได้ครับ
ผมเรียนว่า เราทำงานล่วงหน้ามา2ปีในการใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทย ลาวและจีน ไม่เพียงมีเป้าหมายขนส่งผลไม้และสินค้าเกษตรไปทุกมณฑลทุกเขตปกครองตนเองในจีนแต่เราได้วางเส้นทางขนส่งทางรถไฟสายนี้เชื่อมโยงไปเอเซียกลาง ตะวันออกลาง รัสเซียและยุโรป รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับท่าบกของคาซัคสถานที่ Khorgos Gateway Dry Port ติดพรมแดนจีนบนเส้นทางรถไฟอีต้าอีลู่เพื่อเป็นฮับอีกจุดของชุมทางขนส่ง(Hub & Spoke)
มีเรื่องราวอีกมากที่จะเล่าให้ฟัง
ถ้ามีโอกาสขอเชิญพี่ไพศาลมาฟังบรรยายสรุปอัพเดทข้อมูลใหม่ๆให้ทราบครับและร่วมคิดร่วมสร้างอนาคตของประเทศด้วยกันที่กระทรวงเกษตรฯ.นะครับ
สุดท้ายหมายเหตุวันนี้ ผมขอนำข้อความและข่าวสารเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี2563มาให้อ่านนะครับ เพื่อเป็นข้อมูลที่พี่ไพศาลควรทราบอย่างยิ่งครับ

…อลงกรณ์ พลบุตร….
2 มกราคม 2565
………..,.
16 พฤศจิกายน 2563
ตู้คอนเทนเนอร์ผลไม้ไทยตู้ประวัติศาสตร์

ตู้คอนเทนเนอร์ขนผลไม้ทุเรียนมังคุดจากไทยตู้แรกในประวัติศาสตร์ผ่านลาวและเวียดนามกำลังยกด้วยรถเครนจากรถบรรทุกขึ้นแคร่รถไฟที่”ด่านรถไฟผิงเสียง”ล่ากว่ากำหนดเดิม1วันได้สำเร็จในที่สุด หลังจากเราทำความตกลงกับจีนเปิดด่านใหม่คือด่านรถไฟผิงเสียงครับ…อลงกรณ์
..…….
13 กันยายน 2564
ไทย จับมือ จีน ลงนามพิธีสาร ขยายด่านนำเข้า-ส่งออก กว่า 16 ด่าน หวังเปิดโอกาสผลไม้ไทย สู่แดนมังกรมากขึ้น
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการลงนามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยได้ลงนามร่วมกับ Mr.Wang Lingjun รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่า ที่ผ่านมาไทยและจีนได้มีการลงนามพิธีสารเกี่ยวการส่งออกและนำเข้าผลไม้ทางบก ผ่านประเทศที่สาม ทั้งหมด 2 ฉบับ ได้แก่ เส้นทาง R9 ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2552 และเส้นทาง R3A ลงนามเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2554 ทั้งนี้ พิธีสารทั้ง 2 ฉบับ ครอบคลุม ผลไม้จากไทย 22 ชนิด
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเส้นทาง R9 และ R3A ได้ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเกิดปัญหาการจราจรติดขัด บริเวณหน้าด่านนำเข้าของจีน โดยเฉพาะด่านโหย่วอี้กว่าน ซึ่งส่งผลให้รถขนส่งสินค้าติดอยู่ที่ชายแดนจีนเป็นเวลานาน ทำให้สินค้าผลไม้สด โดยเฉพาะทุเรียนไทยที่ส่งไปจีนนั้นเสียหาย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือแนวทางการแก้ไขปัญหากับจีน เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 และได้เห็นชอบร่วมกัน ในหลักการจัดทำพิธีสารฉบับใหม่ เพื่อเปิดด่านนำเข้าผลไม้จากไทยไปจีนเพิ่มเติม
และต่อมาต้นปี 2563 ได้มอบหมายสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และกรมวิชาการเกษตร หารือกับฝ่ายจีน เพื่อจัดทำร่างพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามจนสำเร็จลุล่วง จึงได้มีการลงนามร่วมกันในวันนี้ ส่งผลให้มีด่านนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น รวมจำนวนทั้งสิ้น 16 ด่าน
โดยเป็นด่านของไทย 6 ด่าน (เชียงของ มุกดาหาร นครพนม บ้านผักกาด บึงกาฬ หนองคาย) และด่านของจีน 10 ด่าน (โหยวอี้กวน โมฮ่าน ตงซิง ด่านรถไฟผิงเสียง ด่านรถไฟโม่ฮาน เหอโข่ว ด่านรถไฟเหอโข่ว หลงปัง เทียนเป่า และสุยโข่ว)